ความ หมายและความเป็นมาของศิลปาชีพ
ศิลปาชีพ หมายถึง การส่งเสริมให้คนไทยในภูมิภาคต่างๆ ผลิตงานด้านศิลปหัตถกรรมเป็นอาชีพเสริม นอกเหนือจากการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลัก งานศิลปาชีพอยู่ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้พระราชทานกำเนิดแก่มูลนิธิ ทรงเป็นประธานกรรมการบริหารของมูลนิธิฯ การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ นอกจากจะเป็นการเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรและราษฎรผู้มีรายได้น้อย แล้ว ยังช่วยอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนไทย และพัฒนาคุณภาพของฝีมือให้ดียิ่งขึ้น จนสามารถผลิตสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งสร้างสรรค์งานฝีมือชิ้นเยี่ยม ไว้เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติอีกด้วย

ผ้าไหมมัดหมี่จากฝีมือของราษฎร
ประวัติความเป็นมาของศิลปาชีพ เริ่มต้นจากความสนพระราชหฤทัยอย่างจริงจังของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในอันที่จะส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมของราษฎร เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียน หมู่บ้านต่างๆ ขณะตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนัก ในต่างจังหวัด พระราชดำริครั้งแรกในการส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมมีขึ้นเมื่อเดือน เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๘ ระหว่างประทับที่วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎร ที่หมู่บ้านเขาเต่า และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงชักชวนให้หญิงชาวบ้านหัดทอผ้าฝ้ายขาย โดยโปรดเกล้าฯ ให้จัดหาครูทอผ้า จากจังหวัดราชบุรีมาช่วยสอนให้ ปรากฏว่า กิจการทอผ้าขาวม้า และผ้าซิ่นพื้นเมืองดำเนินไปด้วยดีพอสมควร ถือได้ว่า เป็นพระราชกรณียกิจแรกทางด้านการส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมแก่ราษฎร ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงริเริ่มขึ้น

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงส่งเสริมให้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมพันธุ์ไทยแท้ เพื่อรักษาพันธุ์ไหมไทยซึ่งมีลักษณะพิเศษไม่เหมือนไหมอื่น
ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้เกิดอุทกภัยที่จังหวัดนครพนม ภายหลังน้ำลดแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียน และพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ ราษฎร มีราษฎรมารอรับเสด็จอย่างเนืองแน่น จากหลายๆ อำเภอ ปรากฏว่า หญิงชาวบ้านแทบทุกคนนุ่งซิ่นไหมมัดหมี่ซึ่งมีความสวยงามต่างๆ กันสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทอดพระเนตรผ้าไหมเหล่านั้นด้วยความสนพระราชหฤทัย ยิ่ง ทรงสอบถามราษฎรจนได้ความว่า ราษฎรทอผ้าไหมมัดหมี่ไว้ใช้กันเองแทบทุกครัวเรือน ไม่ได้ทอขาย นอกจากทอให้ลูกหลานยามออกเรือน
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงส่งเสริมให้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมพันธุ์ไทยแท้ เพื่อรักษาพันธุ์ไหมไทยซึ่งมีลักษณะพิเศษไม่เหมือนไหมอื่น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภว่า การพระราชทานสิ่งของให้แก่ชาวบ้านนั้น เป็นเพียงการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ควรจะหาวิธีที่ช่วยให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาวต่อไป สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำริว่า ชาวบ้านมีความรู้ความสามารถในการทอผ้าไหมมัดหมี่อยู่แล้ว หากจะส่งเสริมให้ทอเพิ่มขึ้นจากที่เคยทอไว้ใช้เอง ก็จะช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เสริม จึงทรงชักชวนให้ชาวบ้านเริ่มทอผ้าไหมมัดหมี่ขาย โดยทรงรับซื้อไว้เองทั้งหมด และเพิ่มราคาให้สูงกว่าท้องตลาด ในเวลานั้น ผ้าไหมมัดหมี่ยังไม่ค่อยมีคุณภาพ มักมีลักษณะแคบ สั้น และส่วนใหญ่สีตก แต่ที่ทรงรับซื้อไว้ ก็เพื่อจูงใจให้ชาวบ้านมีกำลังใจทอผ้าไหมต่อไป พร้อมกันนั้น ก็พระราชทานคำติชม และข้อแนะนำต่างๆ ให้ราชเลขานุการในพระองค์นำไปแจ้งแก่ชาวบ้าน จนผ้าไหมมัดหมี่ค่อยๆ พัฒนาคุณภาพดีขึ้นตามลำดับ จึงเป็นที่ต้องการของประชาชนทั่วไป หลังจากนั้นโครงการส่งเสริมการทอผ้าไหมก็ได้ขยายออกไปตามหมู่บ้าน ต่างๆ ของจังหวัดทางภาคอีสาน และโปรดเกล้าฯ ให้ส่งเสริมการทอผ้าไหมพื้นเมืองทุกชนิด ทั้งผ้าไหมสีพื้น และผ้าไหมลายพื้นเมืองต่างๆ นอกเหนือจากผ้าไหมมัดหมี่ เช่น ผ้าไหมหางกระรอก ผ้าไหมลายลูกแก้ว ผ้าไหม แพรวา ผ้าไหมลายขิด ชาวบ้านที่ทอผ้าไม่เป็น ก็โปรดเกล้าฯ ให้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทรงรับซื้อเส้นไหมนั้น ส่งไปให้ผู้ที่ไม่ได้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม แต่มีความสามารถในการทอเป็นผู้ทอแทน จนการทอผ้าไหม กลายเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพที่ทำรายได้ ให้แก่ราษฎรอย่างกว้างขวางที่สุด ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตลอดมา จนถึงปัจจุบันนี้

กระเป๋าทำจากย่านลิเภา
ใน พ.ศ. ๒๕๑๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ จัดสรรที่ดินที่หุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี ให้ราษฎรได้อาศัยทำไร่เป็นอาชีพ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงช่วยเหลือกลุ่มแม่บ้านชาวหุบกะพง ให้มีรายได้เพิ่มเติม ด้วยการนำป่านศรนารายณ์ ซึ่งเป็นพืชในท้องถิ่นมาประดิษฐ์เป็นสินค้าหัตถกรรมต่างๆ เช่น กระเป๋าถือ หมวก พัด รองเท้าแตะ และของใช้อื่นๆอีกหลายอย่าง โดยได้รับความร่วมมือจากกองอุตสาหกรรมสิ่งทอ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ส่งครูไปช่วยแนะนำ และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์ จนสามารถผลิตเป็นสินค้า ออกสู่ตลาดได้