เล่มที่ 29
พระพุทธรูป
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
พระ พุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย

            พระพุทธรูปสำคัญที่จัดเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ที่ควรกล่าวถึงมี ๒ องค์ คือ

            พระพุทธ มหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต)

            ปัจจุบันประดิษฐานใน พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ใน พระบรมมหาราชวัง

            ประวัติความเป็นมาของพระแก้วมรกตปรากฏในตำนานของชาวล้านนา กล่าวว่าพระแก้วมรกตสร้างขึ้นในอินเดีย และได้อัญเชิญมายังเมืองนครศรีธรรมราช ละโว้ อยุธยา ชัยนาท สุโขทัย กำแพงเพชร จนกระทั่งมาถึงล้านนาตามลำดับ หลักฐานที่พบ และสามารถสืบค้นได้คือ ประวัติพระแก้วมรกตจากพงศาวดาร ซึ่งกล่าวว่า ได้ค้นพบ พระแก้วมรกต ใน พ.ศ ๑๙๗๙ ตรงกับสมัยของพระเจ้าสามฝั่งแกน ผู้ปกครองล้านนา โดยพบในเจดีย์แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ซึ่งถูกฟ้าผ่าพังทลายลงมา


พระแก้วมรกต
ทรงเครื่องทรง ฤดูร้อน

            หลังจากที่ได้พบพระแก้วมรกตแล้ว ได้มีการอัญเชิญเพื่อจะนำมาประดิษฐานยังเมืองเชียงใหม่ แต่ก็เกิดปาฏิหาริย์ จึงได้นำพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่วัดพระแก้ว ดอนเต้า เมืองลำปาง จนมาถึงรัชกาลพระเจ้า ติโลกราช ครั้นเมื่อสร้างวัดเจดีย์หลวงเสร็จแล้ว จึงโปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกตจาก เมืองลำปาง มาประดิษฐานในจระนำซุ้มด้านทิศตะวันออกของเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่ ต่อมาพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พระอุปราช แห่งอาณาจักรล้านช้าง มาปกครองล้านนา เป็นเวลา ๒ ปี เมื่อพระราชบิดาสิ้นพระชนม์ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงเสด็จกลับไปครอง อาณาจักรล้านช้าง พร้อมกับอัญเชิญพระแก้วมรกตไปยังเมืองหลวงพระบาง และในภายหลังได้ย้ายมาประดิษฐานยังวัดพระแก้ว ในเมืองเวียงจันทน์ เป็นเวลานานกว่า ๒๐๐ ปี จนถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่ง กรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเมือง เวียงจันทน์ มายังกรุงธนบุรี ต่อมาเมื่อย้ายราชธานีมายังกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นวัดสำคัญ ในเขตพระบรมมหาราชวัง


พระแก้วมรกต
ทรงเครื่องทรง ฤดูฝน

            พระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งขัดสมาธิราบเหนือฐานหน้ากระดาน เกลี้ยง ตามความจริงแล้ว เนื้อวัสดุนั้นไม่ใช่มรกต แต่เป็นหินสีเขียว (หยก) ได้มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการกำหนดอายุพระแก้วมรกตอยู่ ๒ ข้อ คือ ข้อแรก เชื่อว่า สร้างขึ้นในอินเดีย และได้อัญเชิญมายังเมืองต่างๆ ตามที่ปรากฏในตำนาน กับอีกข้อหนึ่งเชื่อว่า สร้างขึ้นในล้านนา ซึ่งความเป็นไปได้น่าจะสร้างขึ้นในล้านนามากกว่า เพราะการพบครั้งแรก รวมทั้งประวัติความเป็นมา ล้วนแต่เกิดขึ้นในล้านนาทั้งสิ้น แต่ก็ยังมีข้อสงสัยในขณะนั้นว่า รูปแบบของพระแก้วมรกตไม่เหมือนกับพระพุทธรูปกลุ่มใดๆ ในล้านนา

            อย่างไรก็ตาม ได้พบหลักฐานสนับสนุนว่า พระแก้วมรกตน่าจะสร้างขึ้นในล้านนา และเป็นฝีมือช่างในแหล่งที่พบคือ แถบเมืองเชียงราย พะเยา กล่าวคือ ได้พบพระพุทธรูปหินทรายในสกุลช่างพะเยากลุ่มหนึ่ง มีลักษณะเช่นเดียวกับพระแก้วมรกต ทั้งรูปแบบและวิธีการสร้าง

            รายละเอียดเกี่ยวกับอายุสมัยและรูปแบบของพระแก้วมรกตนั้น เนื่องจากพระแก้วมรกตมีรูปแบบใกล้เคียงกับพระพุทธรูปแบบล้านนาระยะแรก แต่ก็มีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยผสมแล้ว จึงเชื่อว่า พระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนาระยะแรก ที่รับอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยในสมัยพระเจ้ากือนา ที่ได้อาราธนาพระสุมนเถระจากสุโขทัย ขึ้นไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในล้านนา ใน พ.ศ. ๑๙๑๓ ดังนั้น ปีที่สร้าง พระแก้วมรกตจึงน่าจะอยู่ในระหว่าง พ.ศ. ๑๙๑๓ - ๑๙๗๙


พระแก้วมรกต
ทรงเครื่องทรง ฤดูหนาว

            ประกอบกับในตำนานที่กล่าวถึงพระแก้วมรกต ระบุว่า ได้มาปรากฏในล้านนาใน สมัยของท้าวมหาพรหม ซึ่งเป็นพระอนุชาของ พระเจ้ากือนา โดยพระองค์ได้เป็นผู้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเมืองกำแพงเพชร มาประดิษฐานยังเมืองเชียงราย จึงนับเป็นหลักฐานที่สัมพันธ์กับการแผ่อิทธิพลของสุโขทัยในล้านนา ในช่วงระยะเวลานี้ พระแก้วมรกตซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญ น่าจะเป็นแรงบันดาลใจ ในการสร้างพระพุทธรูปล้านนาระยะต่อๆ มา โดยเฉพาะในกลุ่มพระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยาดังกล่าว ดังนั้น ระยะเวลาในการสร้างงานน่าจะมีความใกล้เคียงกันด้วยคือ อยู่ในราวๆ ต้น - กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐
พระ พุทธสิหิงค์

            มีอยู่รวม ๓ องค์ ที่มีชื่ออย่างเดียวกัน องค์แรกประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครส่วนองค์ที่ ๒ ประดิษฐานในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ และองค์ที่ ๓ ประดิษฐานใน หอพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช


พระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่

            พระพุทธสิหิงค์มีปรากฏอยู่ในตำนานของชาวล้านนา กล่าวว่า สร้างขึ้นในลังกา และได้อัญเชิญมายังนครศรีธรรมราช ละโว้ สุโขทัย อยุธยา ชัยนาท กำแพงเพชร ก่อนที่จะนำมายังล้านนา โดยท้าวมหาพรหม เจ้าเมืองเชียงราย เป็นผู้ไปอัญเชิญมาจากเมืองกำแพงเพชร เมื่อราวๆ ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐

            จากรูปแบบของพระพุทธสิหิงค์ทั้ง ๓ องค์ที่พบ มีลักษณะเฉพาะของแต่ละสกุลช่าง แตกต่างกัน และเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นในแต่ละ ท้องถิ่น ดังนั้น ที่กล่าวว่า ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาจากลังกานั้น จึงเป็นเพียงตำนาน เมื่อแต่ละท้องถิ่นรับมา จึงได้มาสร้างพระพุทธรูปตามรูปแบบของตนเองขึ้น

                 - พระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานใน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็น พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย หรือศิลปะล้านนาที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะสุโขทัย อายุราวๆ พุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ พระพักตร์รูปไข่ พระรัศมีเป็นเปลว ชายสังฆาฏิยาวมาจรดพระนาภี

                 - พระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนาแบบที่เรียกว่า “เชียง แสน สิงห์หนึ่ง” อายุราวๆ ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร พระเศียรเดิมถูกตัดไปแล้ว ปัจจุบันเป็นเศียรที่หล่อขึ้นใหม่ พระวรกายอวบอ้วน ชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถัน

                 - พระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานในหอพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่ง ขัดสมาธิเพชร ชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถัน พระวรกายอวบอ้วนอย่างมาก นิยมเรียกว่า แบบ “ขนม ต้ม” จัดเป็นสกุลช่างนครศรีธรรมราช มีอายุราวๆ พุทธศตวรรษที่ ๒๒