เล่มที่ 26
ชุมชน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

                

การสร้างชุมชนและประชาสังคมให้เข้มแข็ง

            ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๖ สังคมไทยต้องเผชิญกับปัญหาอย่างหนักในเชิงโครงสร้างที่สำคัญ ๒ ด้าน

            ด้านหนึ่งเป็นปัญหาโครงสร้างรัฐราชการแบบรวมศูนย์ที่เติบโตจนผิดขนาด และนับวันก็ยิ่งด้อยประสิทธิภาพ ในการแก้ปัญหาสังคม ที่มีความสลับซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการจราจร ปัญหาการระบาดของยาเสพติด ปัญหาการระบาดของโรคเอดส์ หรือแม้กระทั่งปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนมีการกล่าวกันว่า

            “รัฐนั้นเล็กเกินไปสำหรับปัญหาใหญ่ๆ และใหญ่เกินไปสำหรับปัญหาเล็กๆ"

            ด้านที่ ๒ เป็นปัญหาโครงสร้างระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติ การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ปลาย พ.ศ. ๒๕๔๐ และผลกระทบที่เกิดตามมาเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่า ทั้งโครงสร้างอำนาจรัฐ และอำนาจทุน ไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง ในการแก้ปัญหาอันสลับซับซ้อน ที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ ฝ่ายประชาชน หรือที่เรียกกันว่า ภาคประชาสังคม นั้น ก็ไม่มีแนวโน้มที่จะรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่ม เพื่อดำเนินการ หรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในชุมชนใกล้ตัว หรือปัญหาระดับประเทศ แต่ยังคงเรียกร้องให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือ และแทรกแซงในปัญหาทั้งปวง โดยถือว่า หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่แก้ไขปัญหาของประชาชน เมื่อมีรัฐที่ไร้ประสิทธิภาพ ในการจัดการกับปัญหา ความอ่อนแอของชาติในฐานะหน่วยใหญ่ที่สุดทางสังคม จึงเกิดขึ้น ในขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนก็มุ่งหวังจะกอบโกยแต่ผลประโยชน์ และฝ่ายประชาชนก็ไม่ได้กระตือรือร้น ที่จะจัดตั้งกลุ่ม เพื่อจัดการกับปัญหาที่ตัวเองกำลังประสบอยู่ จึงเกิดคำถามว่า สังคมไทยจะก้าวไปในทิศทางใด เพราะการหวังพึ่งรัฐอย่างที่เคยปฏิบัติ หรือจะหวังพึ่งธุรกิจเอกชนสมัยใหม่ในการแก้ไขปัญหาสังคม ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก ถึงแม้ว่า ในปัจจุบันจะมีการกล่าวถึงการปฏิรูปภาครัฐ และบรรษัทธรรมาภิบาล (good corporate governance) กันมาบ้างแล้วก็ตาม

หนทางข้างหน้า : สร้างสมดุลใหม่ให้แก่สังคม

            ปัญหา และเหตุปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ได้กลายเป็นที่มาของประเด็นการโต้แย้ง และเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเสนอแนวคิด ที่จะเพิ่มอำนาจให้แก่ฝ่ายประชาชน หรือที่เรียกกันว่า ภาคประชาสังคม ขณะเดียวกันก็ต้องลดบทบาท และจำกัดอำนาจของภาครัฐ และภาคธุรกิจเอกชนให้น้อยลง ซึ่งเห็นได้จากกระแสการปฏิรูปการเมืองภายหลังเกิดเหตุการณ์จลาจล เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ถือได้ว่า เป็นจุดหักเหที่สำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผลในเชิงรูปธรรมก็คือ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่พยายามจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นประชาธิปไตย ที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงมากยิ่งขึ้น โดยพยายามขยายสิทธิของประชาชนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้ "ประชาชน" (people) มีฐานะเป็น "พลเมือง" (citizen) ที่มีความตื่นตัว และมีความพร้อม ที่จะจัดการ และดำเนินการเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะบางอย่างด้วยตัวเอง โดยในบางเรื่อง จัดการร่วมกัน ในฐานะของกลุ่ม องค์กร ชุมชน สถาบันวิชาชีพ และในบางเรื่องก็จัดการร่วมกับรัฐ


                       


การจะสร้างชุมชน และประชาสังคมให้เข้มแข็งได้ ต้องอาศัยองค์ประกอบต่างๆ ดังนี้

            ๑. โครงสร้างพื้นฐานสาธารณะและช่องทางการสื่อสาร

            โครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ (civic infrastructure) และช่องทางการสื่อสาร คือ เงื่อนไขแรก ที่จะทำให้สมาชิกในชุมชน และในประชาสังคม ได้มีโอกาสพบปะ เพื่อพูดคุยถึงปัญหาร่วมกัน หรือเพื่อการสร้างความสัมพันธ์ต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยที่เป็นทางการ เช่น เวทีการประชุมสภาตำบล เวทีการประชุมเชิงวิชาการเฉพาะเรื่อง หรือเป็นการพูดคุยที่ไม่เป็นทางการ เช่น การสนทนาในร้านกาแฟ (สภากาแฟ) ในร้านหนังสือ ใต้ถุนบ้าน วงส้มตำ เราเรียกพื้นที่ที่ก่อให้เกิดการพบปะพูดคุยกันนี้ว่า "พื้นที่สาธารณะ (public space)" ซึ่งส่วนใหญ่โครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ หรือพื้นที่สาธารณะ มักจะอยู่ในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ เช่น งานเทศกาล งานบุญในศาลาวัด โบสถ์หรือมัสยิด งานแข่งขันฟุตบอลระหว่างหมู่บ้าน สิ่งเหล่านี้มิใช่เป็นเพียงเหตุการณ์ทางสังคมเท่านั้น หากแต่เป็นช่องทางการเชื่อมโยงคนเข้ากับชุมชนที่อาศัยอยู่ การพบปะจะก่อให้เกิดการพูดคุยกันหลายๆ เรื่อง ตั้งแต่เรื่องราวในชีวิตประจำวัน ดินฟ้าอากาศ การทำมาหากิน ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีร่วมกัน การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเช่น การเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน องค์การบริหารส่วนตำบล ไปจนถึงการเลือกตั้งระดับชาติ อย่างเช่น การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา

            ๒. กระบวนการสำคัญของชุมชน

            องค์ประกอบนี้ เน้นไปที่กระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และประชาสังคม ในประเด็นสาธารณะ ที่จะมีผลต่อชีวิตของคนในชุมชน และประชาสังคม กระบวนการมีส่วนร่วมนี้ อาจจำแนกออกเป็นขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ ร่วมรับประโยชน์ และร่วมติดตามตรวจสอบ โดยทั้งหมดของทุกขั้นตอน ต้องนำไปสู่เรื่องของการเรียนรู้ของชุมชน และประชาสังคม และหากถามว่า การเรียนรู้ดังกล่าว ทำไมจึงจำเป็น อาจตอบได้ว่า เพราะคนแต่ละคนในชุมชน และในประชาสังคม มีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน จึงทำให้มีมุมมองต่างกัน เช่น เมื่อจะมีการตัดถนนใหม่ผ่านหมู่บ้าน เพื่อทำให้เราถึงเมืองได้อย่างรวดเร็ว แต่การตัดถนนนั้น จะต้องผ่านบ้านเพื่อน และบ้านญาติๆ ของเรา เรื่องแบบนี้มีผลกระทบ ทั้งในแง่บวกและลบ มีทั้งผู้ได้รับผลประโยชน์ และเสียผลประโยชน์ ในฐานะ “ชุมชน" หรือ "ประชาสังคม" จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องราวทั้งหมด ซึ่งจะทำได้โดยการพูดคุย และเรียนรู้ร่วมกับคนอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกในชุมชนเท่านั้น

            ๓. ภาวะการนำและผู้นำชุมชน

            ในชุมชน และประชาสังคม ที่เข้มแข็ง ซึ่งมักมีวงสนทนาอย่างไม่เป็นทางการอยู่ทั่วไปตามสถานที่ต่างๆ นั้น หากเราสังเกตให้ดี ก็จะพบ “ภาวะการนำ" การสนทนาในเรื่องต่างๆ อย่างมีชีวิตชีวา โดยภาวะการนำดังกล่าว เป็นความสามารถที่ไม่ได้ผูกขาดอยู่ที่ผู้ใดผู้หนึ่ง หากมีผู้นำผูกขาดในการนำเรื่องของส่วนรวม ชีวิตในชุมชน และในประชาสังคมนั้น ก็จะขาดชีวิตชีวา และสีสัน และขาดการริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ผู้นำในความหมายนี้ จึงมิได้มีไว้ เพื่อทำหน้าที่ตัดสินความผิด หรือเป็นผู้ต่อต้านการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน แต่จะเป็นผู้ที่คอยแนะนำ หรือคอยกระตุ้นใ ห้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง เพื่อสร้างจิตสำนึกของการเป็นเจ้าของชุมชนของสมาชิกอย่างเต็มที่

            ๔. ตระหนักว่าตัวเองคือผู้แก้ปัญหา

            สำหรับชุมชน และประชาสังคม ที่เข้มแข็ง คนในชุมชนจะตระหนัก หรือมีความคิดว่า อำนาจที่แท้จริงนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการบัญญัติทางกฎหมาย และไม่ได้อยู่ที่หน่วยงาน องค์กร หรือสถาบันของรัฐเท่านั้น แต่สามารถสร้างสรรค์ขึ้นได้จากตนเอง และจากความร่วมมือกับผู้อื่น การมองว่า อำนาจเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวทุกๆ คนนี้ มักจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นที่ว่า "ประชาชนในท้องถิ่นเท่านั้น ที่สามารถแก้ปัญหาของท้องถิ่นได้" ความเชื่อมั่นนี้ สะท้อนถึงความรับผิดชอบของตนต่อปัญหาของชุมชน สังคม และถือว่า ตนเป็นเจ้าของชุมชน และสังคมนั้น

            ๕. ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสถาบัน

            ในชุมชน และประชาสังคม ที่เข้มแข็งนั้น ความสัมพันธ์ของคนอาจอยู่ในรูปขององค์กร หรือเครือข่าย ทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ มักเป็นความสัมพันธ์ต่อกันในแนวนอน ลักษณะความสัมพันธ์ดังกล่าว ก่อให้เกิดความซื่อสัตย์ และไว้วางใจกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดพลังขนาดใหญ่ในการเปลี่ยนแปลง และแก้ไขปัญหาของสังคมได้ ในขณะที่สถาบัน และองค์กรต่างๆ ในชุมชน และประชาสังคม เช่น สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา กลุ่มธุรกิจ ก็รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในชุมชน

            ๖. สำนึกของความเป็นชุมชนและวัฒนธรรมของการเอื้ออาทร

            ในอดีต ที่คนในชุมชน และประชาสังคม ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อชีวิตของตนเองนั้น กิจกรรมสาธารณะเกือบทุกประเภท จะสำเร็จได้ ก็เพราะทุกคนในชุมชน ได้มีส่วนร่วมลงมือทำ การได้ทำงานร่วมกันนั้น ได้สร้างวัฒนธรรมของการเอื้ออาทร และวัฒนธรรมของการแบ่งปัน ให้เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งเป็นสายสัมพันธ์ที่สำคัญที่ทำให้ทุกคน “อยู่ร่วม" และ "อยู่รอด" ได้