ขั้นตอนในการเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อในประเทศไทย
การจัดหาพ่อแม่พันธุ์
การจัดหาพ่อแม่พันธุ์หอยเป๋าฮื้อ สำหรับการเพาะพันธุ์นี้ สามารถกระทำได้ ๒ วิธีใหญ่ๆ คือ
(๑) การรวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติ
(๒) การใช้พ่อแม่พันธุ์ที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยง
ซึ่งข้อดีข้อด้อยและข้อได้เปรียบเสียเปรียบ ระหว่างแหล่งที่มาของพ่อแม่พันธุ์ทั้ง ๒ วิธี จะไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่ว่าไม่ว่าจะได้พ่อแม่พันธุ์มาด้วยวิธีใดก็ตาม ลักษณะของพ่อแม่พันธุ์ที่ดี คือ มีขนาดความยาวเปลือกประมาณ ๗-๑๐ เซนติเมตร หรือมีน้ำหนักตัวอยู่ระหว่าง ๘๐-๑๒๐ กรัม จะต้องมีความสมบูรณ์แข็งแรง และเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว เมื่อถูกแสงสว่าง เมื่อจับขึ้นมา ก็จะเกาะดูดติดกับมืออย่างรวดเร็วและแน่น เมื่อปล่อยกลับ ก็เกาะติดพื้นอย่างรวดเร็ว เปลือกต้องมีลักษณะสมบูรณ์ เป็นมันวาว ไม่ผุกร่อน ถ้าปรากฏว่า มีสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นเกาะติดอยู่ตามเปลือก ก็จะต้องขูดออก และทำความสะอาดให้เรียบร้อย ก่อนที่จะนำเข้ามาในระบบขุน (การขุนพ่อแม่พันธุ์ เป็นการเร่งให้พ่อแม่พันธุ์มีความพร้อม ที่จะผสมพันธุ์ได้เร็วขึ้น) นอกจากนี้ ควรสังเกตดูตามตัวโดยทั่ว ในบริเวณที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ว่าจะต้องไม่ปรากฏบาดแผล หรือมีสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นเกาะติดอยู่ ถ้าเป็นไปได้ ควรเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีระยะการเจริญพันธุ์ อยู่ในระยะที่ ๒ ตามที่ได้กล่าวไว้ในตอนที่แล้ว เพราะจะสามารถนำมาเพาะพันธุ์ได้เลย โดยไม่ต้องทำการขุน หลักเกณฑ์ง่ายๆ ในการขุนก็คือ การจัดสภาพแวดล้อมที่สะอาด โดยให้มีน้ำทะเลที่สะอาดไหลเวียนอยู่อย่างสม่ำเสมอประมาณร้อยละ ๓๐๐ ต่อวัน มีที่หลบซ่อน และมีอาหารตามที่ต้องการ จัดให้มีระยะเวลาสว่างและมืดอย่างละ ๑๒ ชั่วโมงเท่ากัน ในรอบวัน ควรคุมความเข้มของแสงในเวลากลางวันให้อยู่ประมาณร้อยละ ๕๐-๗๐ ของปริมาณแสงปกติ ความหนาแน่นในบ่อขุนไม่ควรเกิน ๔ กิโลกรัมต่อตารางเมตร สำหรับบ่อขนาด ๒.๕ ลูกบาศก์เมตร และต้องหมั่นตรวจสอบระยะการเจริญพันธุ์ เมื่อพบว่า มีการพัฒนาตั้งแต่ระยะที่ ๒ ขึ้นไป ก็จะนำพ่อแม่พันธุ์เหล่านี้ไปทำการเพาะพันธุ์ต่อไป



การเพาะพันธุ์
การเพาะพันธุ์ประกอบด้วย การกระตุ้น หรือการชักนำให้เกิดการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ และการควบคุมการปฏิสนธิ จัดเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จในการผลิตลูกหอย พ่อแม่พันธุ์ที่มีระยะการเจริญพันธุ์สูงๆ อาจได้รับการกระตุ้นให้ปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ได้โดยการย้ายบ่อ อย่างไรก็ดี การกระตุ้นโดยใช้น้ำทะเลที่ผ่านแสงอัลตราไวโอเลตเป็นวิธีการที่ให้ผลดี และมีความเหมาะสมในหลายประการ จึงเป็นวิธีการที่ใช้กันเป็นประจำในโรงเพาะฟัก ที่สถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล และศูนย์ฝึกนิสิต เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี วิธีการดังกล่าว ช่วยในการควบคุมการปฏิสนธิ และช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆ ที่มีสาเหตุมาจากการแก่งแย่งของเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ (Sperm competition) โดยเฉพาะในกรณีที่ปล่อยให้มีการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์เองตามธรรมชาติ ในระบบการเพาะพันธุ์แบบรวม ยิ่งไปกว่านั้น วิธีการกระตุ้นดังกล่าว ยังเป็นวิธีการที่จำเป็น เมื่อต้องการให้มีการผสมผสานเอาวิธีการทางพันธุศาสตร์ เช่น โปรแกรมการคัดเลือก เพื่อการผสมพันธุ์ ซึ่งได้แก่ การคัดเลือกพันธุ์ การทำลูกผสม และเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น การจัดการในระดับชุดโครโมโซม มาประกอบกับกระบวนการเพาะพันธุ์หอยเป๋าฮื้อ ในอนาคตด้วย ส่วนการควบคุมอัตราส่วนของน้ำเชื้อและไข่ที่เหมาะสมในทางปฏิบัตินั้น ทำได้โดยการทดลองจัดอัตราส่วนในระดับต่างๆ ก่อนการผสมจริง และติดตามผลการผสม ด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อดูสัดส่วนการผสม และปริมาณเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ที่เหลือ หรือเกาะอยู่ตามเปลือกไข่ จนเป็นที่พอใจก่อนการผสมจริง เพื่อป้องกันสัดส่วนการปฏิสนธิ ที่ต่ำเกินไป (น้อยกว่าร้อยละ ๘๐) ในกรณีที่มีเซลล์สืบพันธุ์จำนวนสูงมากเกินไป จนเกิดการพัฒนาของไข่ที่ผิดปกติได้


การเพาะพันธุ์อาจทำในถังพลาสติกขนาดต่างๆ หรือในถังและบ่อไฟเบอร์กลาสส์ ในที่นี้จะกล่าวถึง การดำเนินการในบ่อไฟเบอร์กลาสส์รูปกรวยขนาดความจุ ๐.๕ ลูกบาศก์เมตร ที่มีการปรับอัตราไหลของน้ำทะเลให้มีความเข้มของแสงอัลตราไวโอเลต อยู่ประมาณ ๘๐๐ มิลลิวัตต์/ลิตร/ชั่วโมง ทำการแยกหอยเพศผู้และเพศเมียให้อยู่กันคนละบ่อ หรืออาจจะใช้เพศผู้และเพศเมียรวมอยู่ในบ่อเดียวกันก็ได้ โดยจัดให้สัดส่วน ระหว่างเพศเมีย และเพศผู้ เท่ากับ ๕ : ๑ โดยปกติแล้วหลังจากการกระตุ้น พ่อแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์เพศ ก็จะเริ่มปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ในช่วงเวลาประมาณ ๐๒.๐๐ น. - ๐๖.๐๐ น. ของเช้าวันรุ่งขึ้น หอยเพศผู้มักจะปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ออกมาก่อน น้ำเชื้อเพศผู้ที่แข็งแรง จะเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว เมื่อมองด้วยกล้องจุลทรรศน์ที่กำลังขยาย ๑๐x๔๐ เท่า สำหรับไข่หอยที่ปล่อยออกมา จะมีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ สีเขียว จมอยู่ที่พื้นถัง หรืออาจเกาะกันเป็นกลุ่ม ไข่ที่ดี จะมีลักษณะกลม และเห็นเปลือกไข่ได้อย่างชัดเจน เมื่อมองด้วยกล้องจุลทรรศน์ที่กำลังขยาย ๑๐x๑๐ เท่า ไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว จะมีพัฒนาการ และฟักเป็นตัวอ่อน ระยะทรอโคฟอร์ ในระยะเวลาประมาณ ๕ ชั่วโมง ที่อุณหภูมิประมาณ ๒๘ องศาเซลเซียส

การอนุบาล
ตัวอ่อนระยะทรอโคฟอร์ที่แข็งแรง จะเคลื่อนที่เข้าหาแสง โดยว่ายขึ้นสู่ผิวน้ำ เมื่อแสงอยู่ด้านบน ส่วนตัวอ่อนที่อ่อนแอ จะจมลงบนพื้นของถังอนุบาล และตายในที่สุด ดังนั้น การเก็บรวบรวม ทำได้โดยการปิดน้ำและอากาศในถัง จากนั้นใช้วิธีกาลักน้ำ ดูดเอาตัวอ่อนที่แข็งแรงบริเวณผิวน้ำมาเก็บไว้ในถัง เพื่อตรวจสอบความหนาแน่น จากนั้นนำลงไปเลี้ยงในถังอนุบาล ตัวอ่อนที่มีน้ำไหลผ่านไส้กรองขนาด ๑ ไมครอน ที่อัตราไหล ๐.๕ ลิตรต่อนาที ความหนาแน่นของการเลี้ยง จะอยู่ระหว่าง ๕-๑๐ ตัวต่อมิลลิลิตร ขึ้นอยู่กับปริมาตรของถังอนุบาล ถังอนุบาลใหญ่ จะมีความหนาแน่นของการเลี้ยงได้สูง ตัวอ่อนระยะนี้ จะพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนระยะเวลิเจอร์ และตัวอ่อนระยะคืบคลาน และพร้อมที่จะลงเกาะภายในเวลาอีก ๑-๒ วัน ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ความเค็ม และความหนาแน่นที่ใช้เลี้ยง เนื่องจากตัวอ่อนในระยะนี้ ยังใช้อาหารจากไข่แดงที่มีอยู่ จึงยังไม่ต้องให้อาหาร เมื่อตรวจสอบพบตัวอ่อนระยะคืบคลาน ในระยะหลัง (late creeping larvae) ก็ย้ายลูกหอยลงในถังเกาะ ซึ่งเป็นถังไฟเบอร์กลาสส์ ขนาด ๐.๕x๒.๐x๐.๕ ลูกบาศก์เมตร ในระยะแรกที่ย้ายลูกหอยลง จะปิดน้ำและอากาศ เป็นเวลาประมาณ ๔-๕ ชั่วโมง เพื่อให้ลูกหอยมีโอกาสสำรวจ และเกาะบนแผ่นอาหาร ที่เตรียมไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ประมาณ ๓-๔ วัน หลังจากนั้น จึงให้อากาศ และให้มีน้ำทะเลสะอาดไหลผ่านเครื่องกรอง ขนาด ๕ ไมครอนที่อัตราไหล ๐.๕-๑ ลิตรต่อนาที นอกจากนี้แล้ว ในถังดังกล่าวยังมีปุ๋ยน้ำใส่ไว้ให้หยดในสัดส่วน ๑๕-๒๐ หยดต่อนาที ลูกหอยจะใช้เวลาอีกประมาณ ๑-๓ วัน เพื่อคืบคลาน และกินอาหารบนแผ่นอาหาร หลังจากนั้น ก็จะเริ่มต้นสร้างเปลือก และพัฒนา จนเกิดรูหายใจรูแรกบนเปลือก ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๑ เดือน ความยาวเปลือกของลูกหอยในระยะนี้ อยู่ระหว่าง ๐.๑๕-๐.๓ เซนติเมตร และลูกหอย จะเริ่มกินอาหารประเภทสาหร่ายชนิดเกาะติดได้หลายอย่าง ดังนั้น เราสามารถจะย้ายแผ่นอาหารไปไว้ในที่ที่มีแสงสว่างมากขึ้นกว่าเดิมได้ จนอีกประมาณ ๓ เดือน เมื่อลูกหอยมีขนาดประมาณ ๐.๕-๑ เซนติเมตร ลูกหอยเริ่มกินสาหร่ายใบประเภท Gracilaria spp. และ Enteromorpha spp. ได้ รวมทั้งสามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดควบคู่กันไปได้ด้วย จนกระทั่งในที่สุด ให้อาหารเม็ดเพียงอย่างเดียว จากนั้นสามารถจำหน่าย หรือขนย้ายลูกหอยในระยะนี้ เข้าสู่ระบบการเลี้ยงให้มีขนาดตามที่ตลาดต้องการได้



ขนาด ความหนาแน่นของหอย และระยะเวลาในการเลี้ยง
ขนาดของหอยเป๋าฮื้อที่เหมาะสม สำหรับการนำมาเลี้ยงนั้น มีได้ตั้งแต่ความยาวเปลือก ๐.๕ เซนติเมตร ๑ เซนติเมตร และ ๓ เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของระบบการเลี้ยง ความสามารถ รวมทั้งความพอใจของผู้เลี้ยง ถ้าใช้ลูกหอยขนาดเล็กจะมีความเสี่ยงมาก เพราะต้องให้การดูแลเอาใจใส่มาก ลูกหอยมีอัตราการตายสูง และใช้ระยะเวลานานในการเลี้ยง จนถึงขนาดที่ตลาดต้องการ แม้ว่าลูกหอยที่นำมาเลี้ยง จะมีราคาถูก ทางที่เหมาะสม น่าจะใช้ลูกหอยที่มีความยาวเปลือกประมาณ ๑ เซนติเมตร ทั้งนี้เพราะหอยขนาดนี้ สามารถฝึกให้กินสาหร่ายใบ หรืออาหารสำเร็จรูปได้โดยไม่ยุ่งยาก การเลี้ยงควรเริ่มที่ความหนาแน่น ๑,๕๐๐-๒,๐๐๐ ตัวต่อตารางเมตร ให้มีระดับน้ำสูงประมาณ ๕๐-๘๐ เซนติเมตร ที่ สถานีวิจัยสัตว์ทะเลอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี มีบ่อ ขนาดประมาณ ๐.๘x๓.๐x๐.๘ ลูกบาศก์เมตร สามารถใช้เลี้ยงลูกหอยขนาด ๑ เซนติเมตร ได้เป็นจำนวน ๕,๐๐๐ ตัว ให้มีการไหลเวียนของน้ำทะเลในบ่อร้อยละ ๑๐๐-๑๕๐ ต่อวัน การเลี้ยงในลักษณะนี้ จะได้หอยที่มีความยาวเปลือก ประมาณ ๓ เซนติเมตร ในระยะเวลาประมาณ ๔-๖ เดือน จากนั้นจึงลดความหนาแน่นลงเป็น ๒๐๐-๕๐๐ ตัวต่อตารางเมตร แล้วจึงเลี้ยงต่ออีกประมาณ ๖-๑๒ เดือน (ขึ้นอยู่กับขนาดที่ต้องการจะจำหน่าย) จึงจะได้หอยที่มีขนาดความยาวเปลือก ๕-๗ เซนติเมตร และมีน้ำหนักตัวอยู่ระหว่าง ๒๐-๕๐ กรัม อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่ยังไม่ค่อยมีความชำนาญ อาจเริ่มเลี้ยงจากลูกหอย ที่มีขนาดความยาวเปลือก ประมาณ ๒ เซนติเมตร เพื่อที่จะให้เกิดความชำนาญ และง่ายต่อการดำเนินการเลี้ยง ให้ได้ขนาดที่ตลาดต้องการ ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๘-๙ เดือน และมีอัตรารอดตายอยู่ที่ ประมาณร้อยละ ๘๕ ขึ้นไป
